มาตรฐานทองคำ ในประเทศไทย และประเทศต่างๆ พฤษภาคม 25, 2018 – Posted in: บทความ – Tags: , , , ,

มาตรฐานทองคำ

มาตรฐานทองคำ สำหรับทองคำ ถึงแม้เป็นโลหะที่มีความสวยงาม มีมูลค่าในตัวเองสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโลหะที่มีความอ่อนตัวสูงเช่นเดียวกัน การนำทองคำแท้ 100% มาขึ้นรูปเป็นชิ้นงาน ทองรูปพรรณ นั้นทำได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ผู้ที่ใส่ทองอยู่เป็นประจำ จะทราบดีว่าทองรูปพรรณบางเส้น โดยเฉพาะที่มีการตีโปร่ง จะมีความแข็งแรงทนทานค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเครื่องประดับประเภทอื่น

โดยทั่วไปแล้ว ในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคก็จะมีการกำหนดค่าความบริสุทธิ์ของทองคำที่แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทย สมาคมค้าทองคำได้กำหนดค่าความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ ไว้ที่ 96.5% เพื่อให้สามารถนำมาขึ้นรูปชิ้นงานได้อย่างเหมาะสม สวยงาม มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถนำกลับมาหลอมผลิตใหม่ได้โดยไม่มีโลหะอื่นเจือปนมากจนเกินไป

เปอร์เซ็นต์ กะรัต (K) ตราประทับ คำอธิบาย
99.99 24 99.99% ทองไต้หวัน สวิสเซอร์แลนด์ ทองคำแท่งในไทยน้ำหนัก 1 กิโลฯ
96.5 23 965 ทองรูปพรรณในไทย ทองคำแท่งชนิด 5 บาท, 10 บาท
91.67 22 916 ทำเหรียญ เครื่องประดับในอเมริกาเหนือ และเอเชีย อินเดีย
87.5 21 875 ทำเครื่องประดับในบางประเทศของยุโรปและกลุ่มตะวันออกกลาง
75 18 750 ทำเครื่องประดับในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น แหวนฝังเพชรในไทย แหวนสั่งทำ
58.5 14 585 ทำเครื่องประดับในยุโรป อังกฤษ และอเมริกา
ทอง รูปพรรณ, ทองรูปพรรณ

ทอง รูปพรรณ, ทองรูปพรรณ, สร้อยคอ ทองคำ 6 สลึง ลายเบ็นซ์

แล้วทำไมต้องมีทองหลายๆเปอร์เซ็นต์ออกมา

ดังตารางจะเห็นได้ว่ามาตรฐานเครื่องประดับในแต่ละพื้นที่ ก็มีความแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดมาจากสาเหตุหลายประการได้แก่

1. ความยากในการผลิตทองให้มีความบริสุทธิ์สูงๆ

ข้อจำกัดในด้านเครื่องมือ หรือปัจจัยอื่นๆในการผลิต มีส่วนในการกำหนดว่าจะสามารถผลิตทองที่มีความบริสุทธิ์ออกมาได้มากแค่ไหน ซึ่งก็แล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่ความนิยมขอแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศไทย หากไม่ใช่โรงงานที่รับผลิตทองรูปพรรณส่งร้านส่งจำนวนมากๆ ก็ไม่สามารถผลิตทองรูปพรรณให้มีความบริสุทธิ์สูงมากๆ ได้ เช่น ช่างทองทั่วไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องมือเครื่องจักร ทำให้ส่วนใหญ่แล้วงานสั่งทำในประเทศไทยจะมีความบริสุทธิ์ของทองคำอยู่ในเกณฑ์ 80 – 90% เท่านั้น

2. เพื่อความแข็งแรงของทอง

ในการผลิตขึ้นรูปทองรูปพรรณจากทองเปอร์เซ็นต์สูงนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากทองเปอร์เซ็นต์ยิ่งสูงจะยิ่งมีความแข็งแรงคงตัวต่ำ ฉะนั้นทองรูปพรรณทั่วไปของไทยจึงวางมาตรฐานไว้ที่ 96.5% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงมาก แต่สำหรับทองรูปพรรณบางประเภท บางลักษณะ จะไม่สามารถผลิตให้มีความแข็งแรงเพียงพอที่ผู้สวมใส่จะสวมใส่ได้นานหากใช้ทองที่มีความบริสุทธิ์สูงถึง 96.5% กล่าวคืออาจจะต้องมีการเพิ่มธาตุผสมบางตัวเข้ามาช่วยในด้านความแข็งแรง ทำให้เปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของทองต่ำลงกว่านั้น เช่นกรอบพระซึ่งต้องนำมาใช้เป็นกรอบใส่พระอีกทีหนึ่ง จึงจำเป็นจะต้องแข็งแรงมากเพื่อคงสภาพเป็นกรอบ ก็จะผลิตกันออกมาที่ทอง 80% – 90% เท่านั้นค่ะ หรือทองรูปพรรณที่มีลวดลายซับซ้อน ที่ลูกค้าต้องการสั่งทำพิเศษ อาจจะต้องมีการทำเป็นเตยเพื่อฝังเพชร ช่างทองส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้ทองเปอร์เซ็นต์ลดลงเช่นกันค่ะ เพื่อให้เนื้อทองแข็งแรงขึ้นนั่นเองค่ะ

2. เพื่อให้ผู้ชื่นชอบการสวมใส่ทองมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น

นอกเหนือจากการเติมธาตุผสมเพื่อประโยชน์ในเรื่องความแข็งแรงแล้ว ยังมีการเติมธาตุผสมเพื่อให้ได้ทองสีต่างๆออกมาได้อีกด้วย อย่างที่ท่านคงเคยได้ยินก็คือพวก Pink gold, Yellow gold อะไรทำนอนนั้นนั่นเองค่ะ คือทองที่ไม่ได้มีสีทองเหมือนทองเยาวราชที่เราคุ้นตา แต่จะมีสีออกชมพู เหลือง เขียวนิดหน่อย ทองที่มีสีสันสวยงาม ก็เป็นตัวเลือกที่แปลกใหม่ให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบการใส่ทองได้ดีทีเดียวค่ะ

3. เหตุผลด้านราคา

แน่นอนค่ะว่าต้นทุนของทองเปอร์เซ็นต์ต่ำราคาก็จะต่ำลงไปด้วยตามเปอร์เซ็นต์ของทองที่ผสมอยู่ หากท่านเลือกซื้อทองรูปพรรณเปอร์เซ็นต์ต่ำที่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร ก็จะสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าทองที่มีเปอร์เซ็นต์ตามมาตรฐาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นราคาทองรูปพรรณบางชิ้นก็อาจจะแพงขึ้นเนื่องจากปัจจัยอื่น เช่น มีเพชร มีลายซับซ้อน เป็นต้น หากท่านต้องการซื้อทองเปอร์เซ็นต์ต่ำแต่มีลูกเล่นพิเศษแบบนี้ ก็ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนนะคะว่าราคาที่ร้านตั้งขายนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะทองพวกนี้จะไม่ได้ถูกตั้งราคาขายตรงตามราคาทองมาตรฐาน 96.5% อีกต่อไปแล้วค่ะ แต่ท่านก็ยังสามารถใช้ราคาทอง 96.5% ตามมาตรฐานเป็นแนวทางในการคำนวณราคาทองตามน้ำหนักได้อยู่บ้าง เมื่อหักลบกับเปอร์เซ็นต์ทองที่ต่ำลงและบวกค่ากำเหน็จที่สูงขึ้นแล้ว ถ้ามีราคาอยู่ในระดับที่พอใจก็สอยมาเลยค่ะ ไม่มีปัญหา

เมื่อรับทราบดังนี้แล้ว ผู้บริโภคควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อทองคำได้ถูกต้อง นอกเหนือไปจากความบริสุทธิ์ของทองคำแล้ว การเลือกดูและพิสูจน์ทองคำแท้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้บริโภคควรพิจารณา ซึ่งเราจะนำมาเล่าให้ฟังในบทความต่อๆไปค่ะ

ท่านผู้ที่สนใจทองคำ สามารถติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ลิงก์นี้ หรือสามารถติดต่อสอบถามในจาก Facebook page

*ลิขสิทธิ์ บทความโดย บริษัท ห้างทองพรทวี จำกัด ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำ คัดลอก เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อหา

Add line เพื่อติดต่อสอบถาม หรือสั่งซื้อสินค้า ห้างทองพรทวี